Overview
สภาพปัจจุบันและปัญหา
ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ 16,264,404 คัน (ธันวาคม 2551, กรมการขนส่งทางบก) คิดเป็น 25.66% ของประชากร 63,389,730 คน (ธันวาคม 2551, กรมการปกครอง) หรือสัดส่วนประชากร 4 คนต่อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในความเป็นจริงอาจมีจำนวนรถจักรยานยนต์มากกว่าที่จดทะเบียน คือกลุ่มที่ไม่ได้ต่อทะเบียนและลักลอบนำเข้า
จากผลการวิจัยของการใช้น้ำมันเฉลี่ยคันละ 30 กม. ต่อวัน คิดค่าน้ำมันเฉลี่ย 80 สตางค์ต่อกิโลเมตร ค่าน้ำมันนี้สำหรับกรณีรถใหม่ แต่รถอายุเกินห้าปีขึ้นไปอาจจะมีค่าน้ำมันกิโลเมตรละ 1-1.20 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วและน้ำหนักบรรทุกเป็นหลัก เราต้องเสียเงินค่าน้ำมันจากการนำเข้ามาใช้สำหรับรถจักรยานยนต์อย่างเดียวเป็นเงิน
390 ล้านบาทต่อวัน
11,970 ล้านบาทต่อเดือน หรือ
142,350 ล้านบาทต่อปี
หมายเหตุ ปี 2550 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งปีได้สูงสุด 9.4 ล้านตัน หรือ 1.25 แสนล้านบาท รายได้จากการส่งออกข้าวทั้งปีของประเทศเกือบพอกับค่าน้ำมันสำหรับรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในประเทศ
การใช้จักรยานยนต์ ยังมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและทางอากาศ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นต้น หากมีการลดหรือทดแทนการใช้พลังงานในรูปอื่นที่ทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และลดการก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและทางอากาศ ทางเลือกที่ยั่งยืนคือการเพิ่มประสิทธิภาพ ศักยภาพและเครือข่ายของระบบขนส่งมวลชนของประเทศให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งมวลชนระบบราง ระบบรถมวลชน รวมถึงระบบขนส่งส่วนบุคคล
จะลดการนำเข้าน้ำมันได้อย่างไร
รถจักรยานยนต์โดยมากใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน การแปลงกำลังจากน้ำมันไปสู่การขับเคลื่อนที่ล้อ มีประสิทธิภาพประมาณ 15%-20%
ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพจากการแปลงกำลังแบตเตอรีไปสู่การขับเคลื่อนที่ล้อที่มีค่าประมาณ 60-80%
หากสามารถเปลี่ยนรถจักรยานยนต์ทั่วไปมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 1 % หรือประมาณ 160,000 คัน จะลดการนำเข้าน้ำมันโดยตรงได้ 1,600 ล้านบาทต่อปี แน่นอนว่า จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการแปลงระบบแปลงรูปพลังงานไปสู่ระบบที่มีค่าประสิทธิภาพสูงกว่า แต่โดยรวมแล้วประเทศจะลดการนำเข้าได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีส่วนลดการก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและทางอากาศอีกด้วย
|